Money Management เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เมื่อก่อนผมเองทำผิดพลาดอย่างมาก เพราะไม่เคยบริหารเงินตัวเองเลย ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ผ่านบัตรเครดิต แล้วพอถึงเวลาเงินเดือนออก ก็ต้องมาใช้หนี้บัตรเครดิต เหลือเงินที่จะไว้เก็บออมแค่นิดเดียว คือใช้ก่อนออม เหลือเท่าไหร่ถึงค่อยเก็บ บางเดือนก็ไม่เหลือ บางเดือนก็ต้องเอาเงินเก็บมาใช้ ไม่มีวินัยทางด้านการเงิน
เมื่อได้ศึกษามากขึ้น จากหนังสือและบทความต่างๆ ทำให้ได้รู้ว่า เราต้อง ออมเงินก่อนที่จะใช้เงิน และเราต้องมี เป้าหมาย (เป้าหมายมีไว้ให้พุ่งชน) การมีเป้าหมายช่วยทำให้เรามีวินัยทางการเงินมากขึ้น และรู้ว่าจะเก็บเงินไปเพื่ออะไร
เมื่อก่อน ผมไม่ค่อยคิดถึงเรื่องเกษียณมากนัก เพราะดูมันเป็นอะไรที่ช่างห่างไกลเหลือเกิน แต่พอมาตอนนี้ ในวัยที่มีเลข 4 นำหน้า มันก็เหมือน เรือที่ใกล้จะถึงฝั่ง ทำให้เราเริ่มรู้ว่า เงินที่เรามีนี่ช่างน้อยนิด แต่ก็เริ่มช้าดีกว่ายังไม่เริ่มเลย
Family Man – Money management
อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าเราต้อง ออมก่อนใช้ ผมจึงแบ่งเงินออกเป็น 4 ส่วน โดยผมแบ่งสัดส่วนของเงิน ดังนี้คือ
- ส่วนที่เก็บไว้ลงทุน 10%
- ส่วนที่เก็บไว้เป็นค่าเล่าเรียนให้ลูก 10%
- ส่วนที่เก็บไว้ยามเกษียณ 10%
- ส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว 70%
โดยที่ผมจะมีบัญชีธนาคารอยู่ 5 บัญชี สำหรับเงิน 4 ส่วนนี้ เดี๋ยวจะอธิบายว่าทำไมถึงมี 5 บัญชี ที่ผมต้องทำเช่นนี้ เพื่อที่ผมจะสามารถรักษาวินัยในการบริหารเงินได้ ไม่เกิดการเผลอเรอ และง่ายต่อการควบคุมและจัดการ
เงินค่าใช้จ่ายในครอบครัว เป็นเงินสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด โดยที่เงินก้อนนี้ ผมจะใช้บัญชีเงินเดือนของผมเอง ซึ่งไว้ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งบัตรเครดิต และอื่นๆ ในส่วนของการผ่อนอสังหาริมทรัพย์ ก็จะมาจากเงินก้อนนี้ด้วย แน่นอนว่า เราเองพยายามลดค่าใช้จ่ายต่อเดือนให้น้อยที่สุด หากมีเงินเหลือต่อเดือนเยอะ ก็จะนำส่วนหนึ่งไปเก็บไว้ในบัญชีที่ 5 ซึ่งจะเป็นบัญชีเงินเก็บเพื่อกิจกรรมอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ควรจะทำบัญชีรายรับรายจ่ายด้วย เพื่อจะได้หาจุดรั่วไหลของเงินและอุดรอยรั่วนั้นได้ทัน
เงินเก็บเพื่อการลงทุน เงินก้อนผมจะเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์อีกบัญชีนึง สำหรับเวลาเราต้องการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนต่างๆ เนื่องจากเงินก้อนนี้ไม่ได้เยอะ ทำให้เวลาเราจะลงทุนอะไร เราต้องรอโอกาสมากขึ้น ไม่ใช่ต้องใช้เงินก้อนนี้จนหมดไปกับการลงทุน ผมยังถือคติรักษาเงินต้นไว้ให้นานที่สุด จากบทความที่แล้ว Portfolio Management by whitecollar
เงินเก็บยามเกษียณ เงินก้อนนี้จะเก็บไว้ในบัญชีที่มีดอกเบี้ยสูง ข้อดีของมนุษย์เงินเดือนคือ การมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยเก็บเงินยามเกษียณ ให้เราอีกทางนึง
เงินค่าเล่าเรียนลูก เหตุผลที่ต้องแยกออกมาจากค่าใช้จ่ายต่อเดือน เนื่องจากผมต้องการแน่ใจว่า หากตัวเองอยู่ในภาวะไม่มีงานทำ เรายังพอมีเงินไว้ส่งลูกเรียนหนังสือต่อได้
โดยทุกครั้งที่เงินเดือนออก สิ่งแรกที่ผมต้องทำคือ โอนเงินเข้าบัญชีต่างๆ ตามที่วางแผนไว้ และอันดับที่สองที่ต้องทำคือ จ่ายหนี้บัตรเครดิตที่มี ซึ่งเราไม่อยากโดนดอกเบี้ยบัตรเครดิตแน่ๆ
หลังจากที่ได้ทำการแยกเงินออกเป็นกองๆแล้ว เราก็จะมาบริหารเงินลงทุน และบริหารพอร์ตลงทุนของเรา โดยพยายามรักษาเงินต้นไว้ให้นานที่สุด ด้วยการกระจายความเสี่ยง และลดต้นทุนเมื่อมีโอกาส ผมจะทำการจดบันทึกไว้ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงการลงทุน เพื่อที่จะได้ใช้วัดผลและวิเคราะห์แผนการลงทุนของผม
การลงทุุนของผมก็จะใช้หลักออมไว้ในหุ้น ทยอยซื้อ เมื่อราคาลงมาในจุดที่เราตั้งไว้ ทยอยสะสมกองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษี มีการกำหนดเพดานค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยจะพยายามไม่ให้เกินเพดานที่เราตั้งไว้ และหากมีเหลือในบัญชีใช้จ่ายในแต่ละเดือน ก็จะหักออกมาใส่ไว้อีกบัญชีนึง เป็นเงินสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือสำหรับทริปการท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว โดยที่ไม่ไปกระทบเงินในบัญชีอื่นๆ
สิ่งสำคัญในการบริหารเงิน (money management) คือการมีวินัยในตัวเอง ซึ่งบางครั้งเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ก็ต้องฝึกฝน หลังๆมานี่ผมแทบจะไม่ได้ไปเที่ยวไหน หรือซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยเลย เนื่องจากเราเริ่มต้นช้า ต้นทุนด้านเวลาเลยสูงกว่าคนอื่น ทำให้ต้องมาลำบากภายหลัง ดังนั้นแนะนำว่าให้เรารู้จักบริหารเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน จะได้มีระยะเวลาในการเก็บและลงทุนนานขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นตาม
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับน้องๆที่เริ่มทำงาน และกำลังมองหาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุน สำหรับผม ก่อนที่จะลงทุนเราควรบริหารจัดการเงินให้ดีก่อน เพื่อให้เงินที่เราลงทุนเป็นเงินที่เย็นที่สุด เราไม่ควรลงทุนใดๆ หากเงินลงทุนของเราต้องถูกถอนมาใช้ภายในไม่กี่เดือน