การวิเคราะห์หุ้น ด้วยวิธี Dividend Discount Model

การวิเคราะห์หุ้น ดูจะเป็นเรื่องที่ยากสำหรับ คนที่ไม่ได้เรียนบัญชีหรือการเงินมาก่อน เนื่องจากจะมีสูตรและตัวเลขเต็มไปหมด แค่ทำความเข้าใจที่มาที่ไปก็ปวดหัวละ   การ วิเคราะห์หุ้น มีหลากหลายวิธี แต่วิธีที่เข้าใจง่ายใช้ได้จริงและเหมาะกับคนที่เล่นหุ้นเน้นคุณค่าและหุ้นปันผล น่าจะเป็น วิเคราะห์หุ้น ด้วยสูตร Dividend Discount Model หรือ DDM เนื่องจากเรานำเอาเงินปันผลมาเป็นตัวคำนวนเพื่อหามูลค่าพื้นฐานของหุ้น สูตรการคำนวนนี้ไม่สามารถใช้ได้กับหุ้นทุกตัว แต่จะใช้ได้ดีกับหุ้นที่มีปันผลสม่ำเสมอ

การวิเคราะห์หุ้น ด้วยสูตร DDM

ทฤษฏีนี้เกิดจากหลักคิดที่ว่า หากเรานำเงิน 100 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เราจะมีเงินเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

Future value (มูลค่าในอนาคต) = Present Value (มูลค่าปัจจุบัน) * (1 + interest rate)

แล้วนำมาคิดกลับกันเพื่อหามูลค่าปัจจุบัน ถ้าหนึ่งปีข้างหน้าเราต้องการจะมีเงินเท่านี้ เราต้องลงทุนในปัจจุบันเท่าไหร่

Present Value (มูลค่าปัจจุบัน)  = Future value (มูลค่าในอนาคต) / (1 + interest rate)

สูตร Dividend Discount Model ก็จะใช้หลักการเดียวกับข้างบน ซึ่งใช้หลักของอัตราคิดลด (Discount Rate) มาคำนวณหามูลค่าปัจจุบัน โดยปกติตัวเลขที่ใช้คิดลดสําหรับเงินปันผลได้แก่ อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนต้องการจากการลงทุนในหุ้นตัวนั้น เราสามารถคำนวณได้ด้วยสูตรดังนี้

P = D (1 + g)t / (1 + r)t

P คือ ราคาหุ้นที่เหมาะสมในปัจจุบัน

D คือ เงินปันผลล่าสุด

g คือ อัตราการเติบโตของเงินปันผลต่อปี เพื่อมาคำนวณหามูลค่าเงินปันผลในอนาคต

r คือ อัตราผลตอบแทนต่อปีที่เราต้องการ หรือ ผลตอบแทนที่เราพึงได้หากนำเงินไปลงทุนอย่างอื่น

t คือ ระยะเวลา (จำนวนปี) ที่เราคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทน

เพื่อทำให้การคำนวนง่ายขึ้น สมมุติว่าเราต้องการถือหุ้นตัวนี้ตลอดไป หากใช้หลักการอนุกรมแบบอนันต์ที่เคยเรียนมา เราจะได้สูตรดังนี้

P = D/(r-g)

พอเราได้สูตรที่จะนำมาใช้หามูลค่าพื้นฐานของหุ้นแล้ว เรามาดูกันว่าเราจะกำหนดค่าตัวแปร (ค่า g และ ค่า r) อย่างไร อย่างที่แจ้งไว้ในข้างต้น สูตรนี้เหมาะสำหรับหุ้นปันผล หรือหุ้นที่มีการปันผลสม่ำเสมอ ดังนั้นหุ้นบางตัวเมื่อนำมาคำนวณด้วยสูตรนี้อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกต้อง

แต่เราจะกำหนดค่า g และ r อย่างไรให้เหมาะสมกับความเป็นจริง เพื่อที่เราจะได้ผลลัพท์ที่น่าเชื่อถือ

สูตรการคำนวนหาค่า g เพื่อใช้ใน การวิเคราะห์หุ้น

โดยปกติ g คือ อัตราการเติบโตของเงินปันผล ดังนั้นหากต้องการหาค่า g แบบง่ายๆ เราอาจจะดูจากประวัติการจ่ายปันผลย้อนหลังสัก 10 ปี แล้วดูว่ามีอัตราการเติบโตของเงินปันผล โดยเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากบริษัทจ่ายเงินปันผลด้วยอัตราที่ไม่แน่นอน แล้วเราจะคำนวนค่า g อย่างไร เรามาดูสูตรในการหาค่า g กันครับ

g = ROE * (1 – Payout Ratio)

โดยปกติแล้วอัตราการเติบโตของเงินปันผลจะสอดคล้องกับอัตราการผลตอบแทนผู้ถือหุ้น เนื่องจากหากบริษัทมีกำไรมากขึ้นก็จะมีการจ่ายเงินปันผลมากขึ้น และในแง่ของผู้ถือหุ้น g คืออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่จะผู้ถือหุ้นจะได้รับ ซึ่งก็คือ ROE นั่นเอง แต่ทั้งนี้หุ้นที่เราใช้สูตร DDM คำนวณมูลค่าหุ้นเป็นหุ้นปันผล ทำให้เราต้องหักเงินปันผลออกจาก ROE เพื่อที่จะได้ค่า g ที่ถูกต้อง

ตัวอย่าง การคำนวณค่า g

ตัวอย่างเช่น บริษัทมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 10 บาท ปันผลไป 4 บาท ดังนั้นบริษัทจะมีกำไรสะสมเพิ่มขึ้น 6 บาท ทั้งนี้เราจะได้ g = 1 – (4/10) หรือ 60% นั่นเอง ซึ่งหากเราคาดการณ์ว่าในอนาคต ROE จะคงที่ที่ 20% ดังนั้นเราจะได้ g เท่ากับ 0.20*0.60 = 0.12 ซึ่งจะได้ g เท่ากับ 12% นั่นเอง

แต่บางครั้งค่า g ที่คำนวณได้อาจจะสูงเกินไป หากว่าเราคาดการณ์ว่าธุรกิจนี้อาจจะใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว เราอาจจะตั้งสมมติฐานว่าบริษัทน่าจะมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากนัก และคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตของเงินปันผลที่ 3% เพื่อให้ได้ margin of safety ที่สูงขึ้น หรือเราอาจจะใช้อัตราเงินเฟ้อมาแทนก็ได้

สูตรการคำนวนหาค่า r เพื่อใช้ใน การวิเคราะห์หุ้น

ในส่วนของ ค่า r หรือ อัตราผลตอบแทนที่เราต้องการหรือพีงได้หากเรานำเงินไปลงทุนอย่างอื่น ซึ่งอาจจะคำนวณจากดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ถ้าหากเราไม่ได้นำเงินไปลงทุนใดๆ หรือหากเรามีการลงทุนประจำอยู่แล้ว เราอาจจะนำอัตราผลตอบแทนของการลงทุนนั้นๆมาใช้ก็ได้ หรือหากเราต้องการจะได้อัตราผลตอบแทน 10% ในหุ้นตัวนี้ เราก็นำ 10% มาเป็นค่า r ก็ได้

ในบางตำรา ค่า r จะถือเป็นค่าเสียโอกาสในการลงทุน เช่น หากเราลงทุนในหุ้นตัวนี้ซึ่งให้อัตราผลตอบแทน 10% ในขณะที่หุ้นตัวอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ให้อัตราผลตอบแทนที่ 15% เราอาจจะใช้ 15% แทนค่า r ก็ได้ ยังมีสูตรคำนวน ค่า r โดยใช้หลักของ Capital Asset Pricing Model (CAPM) ซึ่งเป็นหลักการคำนวณหาผลตอบแทนที่ต้องการ โดยมีการพิจารณาถึงความเสี่ยงด้วย โดยมีสูตรดังนี้

r = rf + beta * (rm – rf)

โดยที่ค่า r คืออัตราเผลตอบแทนที่ต้องการหรือควรจะเป็น

rf (Risk Free Rate) คือ อัตราผลตอบแทนหลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง โดยปกติจะใช้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี

rm (Market Return) คือ อัตราผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหลักทรัพย์

ค่า beta คือ ตัวเลขที่แสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนของหุ้น เมื่ออัตราผลตอบแทนของตลาดเปลี่ยนแปลงไป จึงใช้ในการวัดความเสี่ยงโดยเปรียบเทียบกับความเสี่ยงของตลาดนั่นเอง

ตัวอย่าง การคำนวณค่า r

ตัวอย่างเช่น ถ้าหุ้นบริษัท A มีค่า เบต้า อยู่ที่ 0.71 และ ณ ปัจจุบัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี อยู่ 3.50.% และสมมติว่าผลตอบแทนที่ได้จากตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 12% เราก็จะคำนวณอัตราผลตอบแทนที่ควรจะได้สำหรับหุ้นบริษัทนี้ดังนี้

r = 0.035 + 0.71 * (0.12 – 0.035)

r = 9.54%

จากผลลัพธ์ข้างบน เราจะควรจะได้ผลตอบแทน 9.54% จากการลงทุนในหุ้นบริษัทนี้ เมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงของราคา และผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ และ อัตราผลตอบแทนที่เราจะได้จากพันธบัตรรัฐบาลซี่งถือเป็นหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมาก

ตัวอย่าง การวิเคราะห์หุ้น ด้วยสูตร DDM

ที่นี้เมื่อเราคำนวณค่า g และ ค่า r ที่เราต้องการได้แล้ว เราก็นำค่าต่างๆ มาลงในสูตร Dividend Discount Model (DDM) เพื่อหาราคาพื้นฐานของหุ้นที่เราสนใจ

ตัวอย่างเช่น บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลเป็นประจำทุกปีตลอดระยะเวลา 10 ปี และถือเป็นหุ้นปันผล ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 5.40 บาท จ่ายปันผลปีล่าสุดที่ 0.36 บาท มีค่าเบต้า อยู่ที่ 0.67 ค่า ROE ปีล่าสุดอยู่ที่ 21.16% และมี Payout Ratio อยู่ที่ 83.72% คำนวนจากการจ่ายเงินปันผลเมื่อปีล่าสุด หากเราลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เราจะได้ผลตอบแทนที่ 3.50% ในขณะที่ผลตอบแทนจากตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านมา อยู่ที่ 12% เราสามารถนำมาเข้าสูตรดังนี้

ค่า g คำนวณได้ดังนี้

g = 0.2116 * (1 – 0.8372)

ดังนั้น g = 3.44%

การคำนวณหาค่า r

r = 0.35 + 0.67 * (0.12 – 0.35)

r = 9.22%

เมื่อเราได้ค่า g และ r มาแล้วเราก็เอามาเข้าสูตร DDM ดังนี้

P = D/(r-g)

P = 0.36/(0.0922 – 0.0344)

ดังนั้นราคาพื้นฐานปัจจุบันอยู่ที่ P = 6.44 บาท

สรุปได้ว่าตอนนี้ ราคาตลาดปัจจุบันที่ 5.40 บาท ต่ำกว่าราคาพื้นฐานปัจจุบัน เราก็สามารถซื้อหุ้นตัวนี้ได้

สมมติว่าเราอยากได้ผลตอบแทนที่ 10% แทนที่จะเป็น 9.22% ในขณะที่เรามองว่าบริษัทน่าจะจ่ายเงินปันผล ในอัตรา 3% ต่อปี แทนที่จะเป็น 3.44% จากที่เราคำนวณได้ เราก็อาจจะแทนตัวเลขเหล่านี้ลงในสูตรดังนี้

P = D/(r-g)

P = 0.36/(0.1 – 0.03)

เราจะได้ราคาพื้นฐานปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 5.30 บาท ซึ่งก็จะยังต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบัน 5.40 บาท ดังนั้นเราอาจจะรอให้ราคาต่ำกว่า 5.30 บาทแล้วค่อยเข้าซื้อ

การหาค่าตัวเลขทางบัญชีต่างๆของหุ้นแต่ละตัว

คราวนี้เราจะไปเอาค่าต่างๆ มาคำนวณได้อย่างไร เช่นค่า Beta และ ค่า Payout Ratio อันนี้ต้องยกเครดิตและขอขอบคุณ คุณกวี ชูกิจเกษม จาก KBank ที่รวบข้อมูลทุกอย่างไว้ใน Excel ให้เราสามารถดาวน์โหลดได้ เพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์หุ้น โดย คุณกวี เองก็ได้สร้างสูตร DDM ให้เราสามารถหาราคาพื้นฐานหุ้นได้โดยง่ายใน excel ไฟล์ด้วย

สามารถดาวน์โหลดได้ที่ ลิ้งค์นี้ ครับ https://www2.kasikornsecurities.com/ksec/page-content.aspx?smid=1053

การวิเคราะห์ราคาหุ้นด้วยวิธี DDM เป็นเพียงหนึ่ง ในหลายๆวิธี และใช้ได้กับหุ้นบางตัว แต่ ก็เป็นวิธีที่ง่ายและสามารถใช้วิเคราะห์ได้ในระดับนึง ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควรจะพิจารณา factor หรือใช้วิธีคำนวณอื่นๆด้วยเพื่อยืนยัน ก่อนการตัดสินใจเข้าซื้อ

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทุกท่านที่กำลังมองหาสูตรการวิเคราะห์ราคาหุ้นนะครับ ติดตามบทความเรื่อง Portfolio Management by White Collar